วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

การศึกษาของประเทศต่างๆ


การศึกษาของประเทศต่างๆ

            “The World Top 20 Education Poll” เผยผลสำรวจระบบการศึกษาจากทั่วโลกกว่า 200 ประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางด้านการศึกษาของนักเรียนอายุตั้งแต่ 3-25 ปี ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ประกอบไปด้วยปัจจัยที่สำคัญในด้านการศึกษา 5 ข้อด้วยกัน คือ      
       1. อัตราการลงทะเบียนของเด็กช่วงปฐมวัย
       2. โรงเรียนประถมศึกษา คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
       3. โรงเรียนมัธยมศึกษา คะแนนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
       4. อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา
       5. อัตราการสำเร็จการศึกษาในระดับวิทยาลัย
       การสำรวจในครั้งนี้เป็นการรวบรวมสถิติจาก 6 องค์กรระหว่างประเทศ คือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD), โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA), องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO), หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์ (EIU), โครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ (TIMSS) และความคืบหน้าในระหว่างการอ่านและการเรียนรู้ (PIRLS) ส่งไปยังกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล      
        โดยแต่ละหัวข้อจะทำการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุด 20 ประเทศ โดยจะให้คะแนนเต็ม 20 คะแนนสำหรับประเทศที่ได้อันดับที่ 1 และ 19 คะแนนสำหรับประเทศในอันดับที่ 2 เรียงลำดับคะแนนลดหลั่นกันมาตามลำดับจะถึงอันดับที่ 20 จะได้ 1 คะแนน โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาหาค่าเฉลี่ยจากคะแนนรวมทั้งหมด 5 ข้อ จนได้มาเป็น “20 อันดับประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก” ดังนี้
      
 อันดับที่ 20 : เบลเยี่ยม (Belgium) PTS : 8
           เบลเยี่ยมมีระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ และแบ่งการปกครองออกเป็นสามภูมิภาคคือ ภูมิภาคแฟลนเดอร์สใช้ภาษาเฟลมมิช หรือ ดัชท์ ภูมิภาควอลลูนใช้ภาษาฝรั่งเศส และภูมิภาคบรัสเซลส์ใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสาร ระบบการเรียนการสอนจึงมีความแตกต่างตามภูมิภาค นักเรียนแลกเปลี่ยนเบลเยี่ยมสามารถเลือกได้ว่าต้องการอยู่กับครอบครัวแถบที่ใช้ภาษาดัตช์ หรือ ภาษาฝรั่งเศส การเรียนปริญญาตรีที่เบลเยี่ยมใช้เวลาทั้งหมด 3 ปีขึ้นอยู่กับสาขาที่เรียน

อันดับที่ 19 : สาธารณรัฐประชาชนจีน (China) PTS: 9
      จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 1,370 ล้านคน อีกทั้งยังมีชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนมาก มีจำนวนนักเรียนนักศึกษามากกว่า 320 ล้านคน มีโรงเรียนจำนวน 680,000 โรงเรียน ซึ่งนับเป็นจำนวนที่สูงติดอันดับต้นๆ ของโลกรัฐบาลประเทศจีนจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษาของประเทศเป็นอย่างมาก รวมถึงการให้ความสำคัญกับนักศึกษาชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในจีน ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ปัจจุบันมีนัก เรียนจากประเทศไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศจีนประมาณ 2,500 คน

อันดับที่ 18 : สหรัฐอเมริกา (USA) PTS: 12
       การศึกษาภาคบังคับนักเรียนอเมริกันทุกคนจะได้รับสิทธิเรียนฟรีจนกระทั่งถึงเกรด 12 หรือจบในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย บรรยากาศการศึกษาในห้องเรียนของชาวอเมริกันนั้น นักศึกษาจะต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น โต้เถียงเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง มีส่วนร่วมในการสนทนา และนำเสนองานของตน ซึ่งนักศึกษาชาวต่างชาติส่วนใหญ่เห็นว่าบรรยากาศภายในห้องเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าตื่นใจที่สุดของระบบการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา

อันดับที่ 17 : ออสเตรเลีย (Australia) PTS: 14
      การศึกษาภาคบังคับของประเทศออสเตรเลีย คือ ปีที่ 1 - 10 (อายุ 6 - 15 ปี) นักศึกษาต่างชาติสามารถสมัครเพื่อเข้าศึกษากับสถาบันในประเทศออสเตรเลียได้ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาเอก มีโรงเรียนที่มีคุณภาพสูงจำนวนมาก ทั้งที่เป็น โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนที่ดำเนินการร่วมกับองค์กรศาสนา โรงเรียนของรัฐบาลจะเป็นประเภทไปกลับ (Day School) ส่วนโรงเรียนเอกชนจะมีทั้งโรงเรียนประจำ (Boarding School) และไป-กลับ

อันดับที่ 16 : อิสราเอล (Israel) PTS: 15
      อิสราเอลถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ค่อนข้างสูงประเทศหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านของการศึกษา ในทัศนะคติของคนอิสราเอลจะถือว่าการศึกษาถือเป็นมรดกที่ล้ำค่า ในปัจจุบันประเทศอิสราเอลอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก ของในอัตราการสมัครเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา การศึกษาภาคบังคับทั้งหมด 12 ปี (ตั้งแต่อายุ 5-16 ปี) และรัฐได้จัดการศึกษาฟรีจนถึงอายุ 18 ปี

อันดับที่ 15 : สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) PTS: 16
      เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติ การศึกษาและแหล่งการเรียนรู้จึงกลายมาเป็นทรัพยากรสำคัญ จนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชนทั่วไปจะค่อนข้างแพง มีมหาวิทยาลัยรวมทั้งหมด 11 แห่ง กล่าวกันว่าประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นต้นกำเนิดของวิชาการโรงแรม จึงทำให้สาขานี้มีนักเรียนไทยให้ความสนใจและไปเรียนมากที่สุดนั่นเอง

อันดับที่ 14 : โปแลนด์ (Poland) PTS: 18
          ประเทศโปแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง และสาขาวิชาที่ขึ้นชื่อคือ “สาขาแพทย์” และเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในเครือข่าย European Union เพื่อแลกเปลี่ยนด้านอื่นๆ รวมทั้งการศึกษา ในปัจจุบัน  โรมาเนีย, เบลเยี่ยม, ฟินแลนด์, กรีซ, อิตาลี, สเปน, โปตุเกส และโปแลนด์ จะรับนักศึกษาโดยพิจารณาจาก GPA ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ Biology, Chemistry ,Physic เป็นตัววัดการได้เข้าศึกษาถึง 90 %  และ อีก 10 % คือคุณสมบัติพิเศษเช่นภาษาอังกฤษ เป็นต้น หลักสูตรแพทย์ในโปแลนด์ยังได้รับการรับรองจากแพทย์สภาอีกด้วย

  อันดับที่ 13 : นิวซีแลนด์ (New Zealand) PTS: 18
     เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อน จึงได้รับการถ่ายทอดวัฒนธรรมและระบบการศึกษาแบบอังกฤษมาใช้จนถึงปัจจุบัน ทำให้นิวซีแลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นอกจากนี้นิวซีแลนด์ยังมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเรียนหนังสือ นักเรียนต่างชาติก็เป็นที่ต้อนรับของชาวนิวซีแลนด์ มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์มีทั้งหมด 8 แห่ง เป็นของรัฐบาลทั้งหมด และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพอีกด้วย

อันดับที่ 12 : รัสเซีย (Russia) PTS: 23
        รัสเซียให้ความสำคัญกับการศึกษามาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต จึงทำให้ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่มีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงแห่งหนึ่ง ชาวรัสเซียส่วนมากจึงสามารถสำเร็จการศึกษาขั้นต่ำทุกคน นอกจากนั้นชาวรัสเซียยังเป็นนักอ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มีการศึกษาหาความรู้กันอย่างจริงจัง อีกทั้งมีวิชาการ ความรู้และเทคโนโลยีเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาก็นับว่าไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อีกด้วย

อันดับที่ 11 : ไอร์แลนด์ (Ireland) PTS: 28
         อีกหนึ่งประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยมอันดับต้นๆ ของโลก โดยรัฐบาลไอร์แลนด์มุ่งมั่นจะสร้างประเทศให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย นอกจากนี้ประเทศไอร์แลนด์ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้นิยมมาเรียนภาษาอังกฤษมากที่สุด โดยในแต่ละปีมีจำนวนนักเรียนประมาณ 200,000 คน ที่มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีหน่วยงานของรัฐบาลไอร์แลนด์รับรองคุณภาพทางการศึกษา

 อันดับที่ 10 : เยอรมนี (Germany) PTS: 28
       เยอรมันเป็นประเทศหนึ่งในกลุ่ม OECD ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาเป็นอย่างมาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กๆ อยู่ในระดับสูงทั้งในระดับมัธยมศึกษา และในระดับอุดมศึกษา การเรียนในระดับอุดมศึกษาของเยอรมันนั้น สามารถเลือกเรียนในสถาบันต่างๆ 5 ประเภทด้วยกันคือ Universitaet เน้นการเรียนการสอนทางด้านทฤษฏี, Fachhochschule มหาวิทยาลัยเน้นทางปฏิบัติ, Gesamthochschule รวม Universitaet และ Fachhochschule ไว้ในสถาบันเดียวกัน, Paedagogische Hochschule วิทยาลัยครู และ Kunsthochschule วิทยาลัยศิลปะ

อันดับที่ 9 : เดนมาร์ก (Denmark) PTS: 29
      ประเทศเดนมาร์กมีระบบการศึกษาที่ได้รับการพัฒนาและมีความน่าสนใจ อาทิเช่น ระบบการศึกษาภาคบังคับที่ยืดหยุ่น การศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายที่หลากหลาย การศึกษาต่อเนื่องที่หลายหน่วยงานมีส่วนร่วม การเน้นการวิจัยในระดับอุดมศึกษา นอกจากนั้นยังเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองและนักเรียนมีส่วนร่วมออกความคิดเห็น นักเรียนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องโรงเรียนและการศึกษาได้อีกด้วย

อันดับที่ 8 : แคนาดา (Canada) PTS: 41
       แคนาดาเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูง ระบบการเรียนของแคนาดา จะอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัดและมณฑล โดยจะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ยกเว้นในควิเบก (Quebec) ซึ่งจะมีระบบการศึกษาที่แตกต่างออกไป ประกอบด้วยระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา วิทยาลัยทั่วไปและวิทยาลัยอาชีพ (CEGEP) นอกจากนี้ประเทศแคนาดายังเป็นประเทศที่มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีติดอันดับโลกอีกด้วย

อันดับที่ 7 : เนเธอแลนด์ (Netherlands) PTS: 42
    ประเทศเนเธอแลนด์ดินแดนกังหันลม จุดหมายปลายทางที่นักศึกษาจากทั่วโลกที่นิยมมาเรียนต่อตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป ระบบการศึกษาของประเทศเนเธอร์แลนด์แตกต่างจากที่อื่น เพราะที่นี่จะให้อิสระโรงเรียนในการจัดการศึกษาอย่างเต็มที่ รัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงเรื่องการบริหารจัดการอีกด้วย

อันดับที่ 6 : ฮ่องกง (Hong Kong) PTS: 43
        ฮ่องกงใช้เวลาทำการปฏิรูปการศึกษาอยู่ 12 ปี โดยเริ่มเมื่อ ปี ค.ศ. 2000 การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จอย่างน่าชื่นชม ฮ่องกงกล้าที่จะยกเลิกระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมของอังกฤษแทบทั้งหมด สร้างความเป็นนานาชาติที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าได้อย่างเหมาะสมได้ทุกระบบ ยกเลิกการสอบแบบ o-Level และ A-Level มาเป็นการสอบระดับชาติเพียง 1 ครั้ง ขยายการศึกษาภาคบังคับจาก 9 ปี เป็น 12 ปี ขยายเวลาเรียนจบในระดับปริญญาตรีจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เป็นต้น

อันดับที่ 5 : สหราชอาณาจักร (United Kingdom) PTS: 48
            การศึกษาภาคบังคับของสหราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่อายุ 5 ปี ไปจนถึง 16 ปี โรงเรียนมีทั้งประเภท โรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชน การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยปัจจุบันมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรมีประมาณ 96 แห่ง เป็นของรัฐบาลเกือบทั้งหมด ยกเว้น University of Buckingham ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวการศึกษาระดับอุดมศึกษา

อันดับที่ 4 : ฟินแลนด์ (Finland) PTS: 48
       โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน ไม่มีการสอบเข้าสถานศึกษา ไม่มีค่าธรรมเนียมทางการศึกษา ไม่มีการจัดอันดับสถานศึกษา ไม่มีหน่วยงานคอยควบคุมวัดระดับเพื่อประเมินผล การศึกษาภาคบังคับเริ่มต้นเมื่อเด็กอายุ 7 ปี ไม่เน้นการเรียนอนุบาลแต่จะเน้นให้อยู่กับครอบครัวให้มากที่สุด ระดับประถมจะใช้เวลาเรียนน้อยและให้เด็กได้ทำในสิ่งที่สนใจมากกว่า ที่สำคัญจะไม่เน้นเรื่องการแข่งขันจึงไม่มีเกรดเฉลี่ย

อันดับที่ 3 : สิงคโปร์ (Singapore)
        รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการศึกษามาก โดยถือว่าประชาชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และมีค่าที่สุดของประเทศ จึงสนับสนุนด้านการศึกษาจนเสมือนกับเป็นการศึกษาแบบให้เปล่า โรงเรียนในระดับประถม และมัธยมล้วนเป็นโรงเรียนของรัฐบาลหรือกึ่งรัฐบาล สถานศึกษาของเอกชนในสิงคโปร์ มีเฉพาะในระดับอนุบาล และโรงเรียนนานาชาติเท่านั้น การเรียนการสอนในประเทศสิงค์โปร์นี้จะเน้นความง่าย เรียนจากความเป็นจริง และสิ่งที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ 4 ด้านคือ เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษา
การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในประเทศสิงคโปร์

           สิงคโปร์นั้นเป็นอันดับ 1 ทางด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะคณิตศาสตร์นั้นค่อนข้างเป็นกล่าวถึง จนหลายๆประเทศได้นำหลักสูตรมาพัฒนาใช้ในโรงเรียน
เทคนิคการเรียนแบบสิงคโปร์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน
1.เรียนรู้จากประสบการณ์ ของจริงที่จับต้องได้ เช่น การนับเหรียญ การทอยลูกเต๋า …
2.นำสิ่งที่ได้เรียนมาวาดเป็นรูป โดยใช้ bar model หาคำตอบ
3.แก้ปัญหาคณิตศาสตร์โดยใช้จำนวนและสัญลักษณ์

     ซึ่งหลักการเรียนคณิตศาสตร์ด้วยแนวทางนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ใช้ฐานจากทฤษฎีการเรียนรู้ของมนุษย์โดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกาชื่อว่า Jerome Bruner ได้ค้นพบว่า ขั้นตอนการเรียนรู้ของสมองมนุษย์แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ สัมผัส/เรียนรู้จากของจริง ต่อไปเปลี่ยนเป็นรูปภาพ และสุดท้ายเป็นสัญลักษณ์เพื่อจดจำในสมอง
จะเห็นว่าแนวทางการเรียนคณิตศาสตร์แบบสิงคโปร์ ทำให้เด็กๆพัฒนากระบวนการคิดได้เป็นอย่างดีทีเดียว

อันดับที่ 2 : ญี่ปุ่น (Japan) PTS: 55
     ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีมาตรฐานทางด้านการศึกษาในระดับสูง โดยระบบการศึกษาของประเทศได้รับต้นแบบมาจากระบบการศึกษาของหลายๆ ประเทศ อาทิเช่น ประเทศอังกฤษ, ฝรั่งเศส และอเมริกา นอกจากเทคโนโลยีที่มาใช้ในการศึกษาได้อย่างทั่วถึงแล้ว ความสำเร็จทางการศึกษาของญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ในการสอบวัดความรู้ด้านคณิตศาสตร์นานาชาติ เด็กญี่ปุ่นถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ มาโดยตลอด
การจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของญี่ปุ่น
การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในประเทศญี่ปุ่นใช้วิธีการแบบเปิด (open approach)ครูจะทำวิจัย (lesson study : ศึกษาและพัฒนาบทเรียนที่ออกแบบเอง) ตลอดเวลาโดยมีการเปิดชั้นเรียน (open classroom) ให้เพื่อนครูเข้าไปสังเกตการสอนและ ร่วมประชุม แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ หลังการสอน เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น  ซึ่งเจ้าของบทเรียนสามารถโต้แย้ง แสดงเหตุผลในการออกแบบของตนได้ ว่าดีกว่าข้อเสนอแนะของเพื่อนหรือไม่ อย่างไร ต้องสามารถอธิบายให้เพื่อนเข้าใจได้  หลังจากการถกแถลงและอภิปรายแล้ว ถ้าข้อเสนอของเพื่อนดีกว่า ก็ต้องยอมรับเพื่อปรับปรุง แต่ถ้าเหตุผลของเจ้าของบทเรียนดีกว่า เพื่อน ๆ ก็จะยอมรับ
การสอนคณิตศาสตร์ของครูญี่ปุ่น เน้นการคิดที่แตกต่างของเด็ก และเน้นความสามารถของเด็กในการค้นหาความสัมพันธ์ ด้วยตนเอง ตั้งแต่ชั้น ป. 1

อันดับที่ 1 : เกาหลีใต้ (South Korea) PTS: 59

           ระบบการศึกษาของเกาหลียุคใหม่ มาแรงแซงทุกประเทศ “New Education System” มุ่งพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศเพื่อการเป็นสังคมแห่งความรู้ สร้างสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้คนเกาหลีมีความรู้ ความสามารถ มีความทันสมัย และที่สำคัญคือมีจริยธรรม แต่ยังคงความเป็นเลิศด้านการศึกษาและดำรงมาตรฐานของระบบการศึกษาของเกาหลี ดังจะเห็นได้จากนักเรียน-นักศึกษาของประเทศเกาหลีจะเรียนหนักมาก ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นอย่างดี อีกทั้งยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเรียนการสอนอีกด้วย

การศึกษาคณิตศาสตร์ในประเทศเกาหลี

ในประเทศเกาหลีมีการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์มาตั่งแต่อดีต โดยเฉพาะสมัยของพระเจ้าเซจองที่มีความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะคณิตศาสตร์ ในสมันนั้นมีนักคณิตศาสตร์ชื่อ จางยองซิล มีบทบาทมากในสมัยนั้น เขาเป็นผู้ประดิษฐ์มาตรวัดน้ำฝน และ สิ่งประดิษฐ์อื่นๆอีกมากมาย เขามักถือหนังสือคณิตศาสตร์เล่มหนึ่งติดตัวเสมอ ซึ่งคือหนังสือคณิตศาสตร์ที่ชื่อว่า ซันฮักคเยมง แปลว่า ความรู้ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งมาจากหนังสือคณิตศาสตร์ของจีน หนังสือเล่มนี้เน้นวิธีการคำนวณเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงนับเป็นตำราเรียนเล่มสำคัญในสมัยนั้น

ที่มา : https://blog.eduzones.com/GlobalAcademyLadphrao/142811
          http://tinmath.blogspot.com/2011/01/blog-post_27.html
          https://kingmaththewalk.wordpress.com/2014/12/24/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น