หลักการและทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
ทฤษฎีการเรียนรู้ปัญญานิยม (Cognitive Theory)
สุรางค์ โค้วตระกูล. (2537 : 149 – 159) ได้กล่าวถึงนักจิตวิทยากลุ่ม เกสตัลท์ (Gestalt Psychologist : 1920-1930) ได้แก่ จอง พีอาเจต์ Jean Piaget) โจโรม เอสบรูเนอร์ (Jerome S. Bruner) และ เดวิด พี. อ๊อสชุเบล (David P. Ausuber) ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของผู้เรียนว่าต้องเกิดจากตัวผู้เรียนเอง กล่าวคือ จะเน้นความสัมพันธ์ของส่วนย่อย โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของส่วนย่อยส่วนใดส่วนหนึ่งจะมีผลต่อส่วนรวม และจากการทำการวิจัยเกี่ยวกับการรับรู้ได้ข้อสรุปว่า การรับรู้ของคนส่วนมากจะเป็นอัตวิสัย (Subjective) ซึ่งเน้นความสำคัญของผู้เรียนว่าจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำหรือเป็นผู้ที่ริเริ่มและกระตือรือร้น เรียนรู้ด้วยการหยั่งรู้(Insight) ซึ่งเป็นการอธิบายถึงกระบวนการรู้คิด (Cognitive Process)ที่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนรู้ ผู้เรียนได้มองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าที่เป็นสิ่งแวดล้อมของปัญหาที่ตนกำลังเผชิญอยู่ นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะเน้นการศึกษาเกี่ยวกับการรู้คิดและความสำคัญของผู้เรียน โดยถือว่าการเรียนรู้เป็นผลของการที่ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
พีอาเจต์ เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดจากการที่ผู้เรียนรู้เป็นผู้ริเริ่ม เป็นผู้กระทำที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าหรือสิ่งที่จะต้องเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ลงมือกระทำให้เกิดขึ้น (Active) ซึ่งสอดคล้องกับดุย (Dewey) ที่กล่าวว่า "Learning by Doing" ซึ่ง พีอาเจต์กล่าวว่า เมื่อเกิดการเรียนรู้ขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสติปัญญา (Cognitive Structure) ของผู้เรียน ซึ่งการนำทฤษฎีของพีอาเจต์มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะเน้นหลักการต่างๆ ดังนี้
1. กระบวนความคิดของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้เรียนแต่ละวัยจะมีลักษณะการคิดที่แตกต่างกัน ผู้สอนจะต้องมีความเข้าใจผู้เรียนแต่ละวัยว่ามีการรู้คิดอย่างไร
2. เน้นความสำคัญของผู้เรียน ผู้เรียนจะสามารถควบคุมกิจกรรมการเรียนรู้ของตนเองได้ (Self – Regulation) และเป็นผู้ที่จะริเริ่มลงมือกระทำ ผู้สอนมีหน้าที่อบรมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้โดยการค้นพบ ให้โอกาสผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
3. ในการสอนควรเริ่มจากประสบการณ์ที่ผู้เรียนคุ้นเคยหรือเริ่มจากประสบการณ์ที่ใกล้ตัวไปหาประสบการณ์ที่ไกลตัว เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจ
บรูเนอร์ เชื่อว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้ประมวลข้อมูลข่าวสารจากการที่มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การรับรู้ของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เรียนที่มีต่อสิ่งนั้นๆการเรียนรู้จะเกิดจากการค้นพบ เนื่องจากผู้เรียนมีความอยากรู้อยากเห็น บรูเนอร์ กล่าวไว้ว่า วิธีการที่ ผู้เรียนใช้เป็นเครื่องมือในการค้นพบความรู้มี 3 ขั้น คือ วิธีการที่ใช้รูปธรรม (Enactive Mode) วิธีการที่ใช้กึ่งสัญลักษณ์ (Iconic Mode) และวิธีการที่ใช้สัญลักษณ์ (Symbolic Mode) และเชื่อว่าถ้าผู้สอนเข้าใจพัฒนาการทางเชาวน์ปัญญาของผู้เรียนและจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ตามขั้นพัฒนาการของตน
อ๊อสซุเบล เน้นความสำคัญของการเรียนรู้อย่างมีความเข้าใจและมีความหมาย การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้รวมหรือเชื่อมโยง (Subsume) สิ่งที่เรียนรู้ใหม่ซึ่งอาจจะเป็นความคิดรวบยอดหรือความรู้ที่ได้รับใหม่ไว้ในโครงสร้างของสติปัญญาหรือความรู้เดิมที่อยู่ในสมองของผู้เรียน ซึ่งอ๊อสซุเบล ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น 4 ประเภท คือ การเรียนรู้โดยการรับอย่างมีความหมาย (Meaning Reception Learning) การเรียนรู้โดยการรับแบบท่องจำโดยไม่คิด (Rote Reception Learning) การเรียนรู้โดยการค้นพบอย่างมีความหมาย (Meaningful Discovery Learning) การเรียนรู้โดยการค้นพบแบบท่องจำโดยไม่คิด (Rote Discovery Learning)
ทฤษฏีพหุปัญญา (Multiple Intelligences Theory)
Gardner. (อ้างถึงใน สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์, 2546 : 12) ได้เป็นผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความสามารถทางสติปัญญาด้านต่างๆ เรียกว่า ทฤษฏีพหุปัญญา โดยสรุปไว้ว่า คนทุกคนมีความสามารถทางสติปัญญาหลายด้านและแตกต่างกันสามารถนำสติปัญญาไปใช้ในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหาต่างๆ สติปัญญาในแต่ละด้านเป็นอิสระซึ่งกันและกันและทุกคนสามารถพัฒนาสติปัญญาเหล่านี้ได้ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องเรียนครูผู้สอนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสติปัญญาที่หลากหลายเหล่านี้ด้วยการใช้วิธีสอนหลายวิธีและหลายรูปแบบให้นักเรียนปฏิบัติได้สอดคล้องกับความสามารถทางสติปัญญาด้านต่างๆของตน
ความสามารถทางสติปัญญา 8 ด้าน ได้แก่
1. สติปัญญาด้านภาษา เป็นความสามารถในการใช้ทักษะทางภาษา การแสดงออก การเข้าใจถ้อยคำ และศิลปะในการสื่อสารกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ ได้แก่ การเล่าเรื่อง การพูดในโอกาสต่าง การฟัง เขียนบทความ หรือนิทาน การเขียนเชิงสร้างสรรค์
2. สติปัญญาด้านการใช้เหตุผลและคณิตศาสตร์ เป็นความสามารถในการคิดหาเหตุผล มีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของการกระทำ วัตถุ และความคิดมีความสามารถในการคำนวณ การพิจารณาปัญหาและแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ได้แก่ การฝึกแก้ปัญหา การใช้เหตุผล เล่นเกมฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์
3. สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์ เป็นความสามารถด้านการมองเห็นสิ่งต่างๆ สร้างสิ่งที่สร้างสรรค์หรือจินตนาการภายในใจ เข้าใจภาพหลายมิติ การออกแบบ การเดินเรือและสถาปัตยกรรม กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ได้แก่ การสร้างสรรค์ภาพ การสร้างรูปแบบ การใช้สัญลักษณ์ กราฟฟิค การใช้แผนภูมิ การทำแผนผังความคิด แผนที่การสร้างรูปบ็ลอค
4. สติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวด้านร่างกายและกล้ามเนื้อ เป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย การแสดงออกทางอารมณ์ ภาษาท่าทางและการออกกำลังกาย กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ คือการใช้ร่างกายเป็นสื่อในการเรียนการสอน แสดงท่าทาง แสดงละคร แสดงบทบาทสมมุติ เล่นเกม การศึกษานอกสถานที่ และการรำหรือทำท่าทางประกอบเพลงหรือเสียงดนตรี
5. สติปัญญาด้านดนตรี เป็นความสามารถเกี่ยวกับท่วงทำนอง จังหวะ ระดับเสียงสูงต่ำ สามารถเล่นเครื่องดนตรีได้ ร้องเพลงร่วมกับผู้อื่นได้ กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสติปัญญาด้านนี้ คือใช้เพลงหรือดนตรีประกอบในการปฏิบัติ กิจกรรม ให้ดนตรีช่วยสร้างภาพในสมอง การแต่งเพลง ใช้เครื่องเคาะจังหวะดนตรี
6. สติปัญญาด้านการเข้าใจผู้อื่น เป็นความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เข้าใจในอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดและพฤติกรรมผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เป็นผู้นำ ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ได้แก่ การทำกิจกรรมในรูปแบบการร่วมมือ การทำงานกลุ่ม การอยู่ค่ายพักแรม
7. สติปัญญาด้านการเข้าใจตัวเอง เป็นความสามารถในการรู้จักและเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น ความรู้สึก ค่านิยม ความเชื่อ การรับรู้ การคิด กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านนี้ คือการสร้างแรงจูงใจจากภายใน การศึกษาอิสระ การพูดหรือเขียนบทความเกี่ยวกับประสบการณ์ของตน การฝึกประเมินตนเอง
8. สติปัญญาด้านการเข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรอบตัวศึกษาธรรมชาติอย่างมีระบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น