วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

การศึกษาแห่งอนาคต 7 เทรนด์การเรียนรู้ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก

การศึกษาแห่งอนาคต เทรนด์การเรียนรู้ยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก


Coding Literacy
              เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล อีกหน่อยหุ่นยนต์และ AI ก็ยิ่งจะมาเป็นส่วนสำคัญของโลกธุรกิจและการผลิต ดังนั้น ภาษา’ สำคัญในโลกยุคต่อไปจึงไม่ใช่ภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์ แต่เป็นภาษาที่เราใช้สื่อสารเข้าใจและจัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ ทักษะความเข้าใจเรื่องโค้ดและระบบการเขียนโค้ด (coding) จึงเป็นทักษะสำคัญ Annette Vee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภาษาอังกฤษจาก University of Pittsburgh เจ้าของหนังสือ Coding Literacy: How Computer Programming is Changing Writing บอกว่าความเข้าใจเรื่อง code กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาษา (literacy) เป็นทักษะที่ไม่ควรจะอยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์ แต่คือทักษะสำหรับทุกคน
Student as Creators

            จากที่เราเคยวางผู้เรียนเป็นแค่ฝ่ายรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่ในโลกยุคใหม่ ด้วยพลังของเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถผลิตสร้างผลงานของตัวเองได้ด้วยเพียงคอมพิวเตอร์และโปรแกรมในมือ ดังนั้นนักเรียนในโลกของการสร้างสรรค์จึงจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) เป็นผู้สร้าง (active) ในทุกวันนี้ เรามีนักสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างผลงานอันน่าตื่นเต้นจากโทรศัพท์มือถือ จากโปรแกรมที่บ้านไหนๆ ก็มี และคาดกันว่าในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติมาถึง การสร้างสรรค์และการผลิตผลงานจะเป็นสิ่งที่ไร้ขีดจำกัด ดังนั้นนักเรียนและการให้การศึกษาในโลกสมัยใหม่จึงการกลายเป็นผู้ผลิตไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ แล้วรับการเรียนแบบนิ่งๆ

Empathy and Emotion Understanding

            การศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ยิ่งต่อไปเรากำลังก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี ทักษะอ่อน (soft skill) ทักษะแบบมนุษย์ที่พ้นไปจากเรื่องการงาน เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งการทำงานกำลังต้องการ ดังนั้นประเด็นเรื่องความรู้สึกนึกคิด ความเข้าใจผู้อื่น โดยสรุปคือการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ เพิ่มเติมความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุคแห่ง AI
Collaborative learning
            เรามักชินกับความสำเร็จส่วนบุคคลเชิดชูความอัจฉริยะของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เราต่างเข้าใจว่าโลกของความสำเร็จและการทำงาน การแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกันยิ่งในโลกทุกวันนี้เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมโยงและแก้ปัญหาต่างๆ เช่นการทำงานร่วมกับคนอื่นผ่านแพลตฟอร์มของกูเกิล ดังนั้นห้องเรียนในอนาคตจึงจะเน้นทั้งแนวคิดของการใช้เครื่องมือยุคใหม่เพื่อทลายข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ ไปจนถึงกลุ่มคน เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสาร เชื่อมโยง และเรียนรู้ร่วมกันได้
Family and Community Involvement
            การให้การศึกษาไม่ใช่แค่ภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์แต่เป็นหน้าที่ที่ทั้งครอบครัวและชุมชนต้องร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆให้รอบด้านการที่ใครก็ตามต่างสามารถมีส่วนรับผิดชอบและสอดส่องว่าเด็กคนนี้มีความต้องการความช่วยเหลือหรือส่งเสริมพัฒนาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้นเป็นกระแสที่ปรับจากความเชื่อเรื่องการให้การศึกษาแบบเดิมๆ มาเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน
Individualized Learning
            เด็กๆ มีลักษณะพิเศษ มีความสามารถเฉพาะบุคคล ปัญหาของการเรียนรู้แบบเดิมๆ คือการตั้งมาตรฐานแบบเดียวขึ้นมาและใช้กับเด็กทุกคนนักการศึกษาสมัยใหม่เห็นว่าความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า เพื่อพัฒนาจุดแข็งและลักษณะเฉพาะนั้นๆ ของเด็กแต่ละคน
Redesigning learning Spaces
            ศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เคยชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนของไทยมีลักษณะที่เป็นแบบแผน มีครูมายืนหน้าชั้นและพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียวห้องเรียนในโลกสมัยใหม่จึงควรถูกคิดและออกแบบใหม่ไปสู่ห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระเป็นห้องเรียนที่ทันสมัยทั้งในด้านความคิดและพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น