แนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
มนุษย์ส่วนใหญ่จะปฏิบัติงานและกระทำการใด ๆ ตามความรู้ ความเชื่อ และแนวคิดของตนเอง ดังนั้น การที่ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จะกระทำการและปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาให้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับความรู้และแนวคิดที่มีเหตุผลและความถูกต้อง อันจะเป็นแนวทาง ขวัญและกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเชื่อมั่นและมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว
ความสำคัญของหลักสูตรสถานศึกษา
ในอดีตสถานศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้บรรลุจุดหมายตามหลักสูตรกลางที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้เท่านั้น ปัจจุบันแนวความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไป มีการกระจายอำนาจและมอบหมายให้สถานศึกษามีอำนาจตัดสินใจในกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น จึงมีผู้นำแนวความคิดนี้บรรจุไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพื่อให้บังเกิดผลในการปฏิบัติ ดังข้อความในวรรคสอง มาตรา 27 ที่ว่า ให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่ง ในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ (สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ม.ป.ป.: 15)
จากข้อความตามวรรคนี้แสดงว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะต้องจัดทำสาระในรายละเอียดตามกรอบของหลักสูตรแกนกลางและจัดทำหลักสูตรอื่นบางส่วนเพิ่มเติม เพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนและความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้นบทบาทของสถานศึกษาโดยเฉพาะผู้บริหารและคณะครูจะต้องรับผิดชอบงานทางด้านการจัดทำรายละเอียดของหลักสูตรในทุกเนื้อหาสาระเพิ่มเติม
ทั้งนี้เพื่อให้หลักสูตรตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่นให้มากที่สุด ประกอบกับสถานศึกษามีบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะกำหนด รายละเอียดสาระของหลักสูตรเพิ่มเติมได้เอง
ในการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษานั้น นอกจากเป็นบทบาทของบุคลากรของสถานศึกษาโดยตรงแล้ว สถานศึกษาอาจเชิญนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยจัดทำหลักสูตรให้แก่สถานศึกษาได้ มาช (Marsh, 1997: 8) ได้กล่าวว่า ผู้ที่จะจัดทำหลักสูตรให้แก่โรงเรียนมาจากหลายแหล่ง จากบุคลากรในโรงเรียน ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครองนักเรียน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอุดมศึกษา กลุ่มบุคคลจากอุตสาหกรรมและชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจนถึงนักการเมือง
การที่บุคคลของสถานศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร โดยเฉพาะผู้บริหารและครูผู้สอน จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวเข้าถึงและเข้าใจความสำคัญ ทิศทางของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง เพราะได้มีการอภิปราย การตรวจสอบ และการหาข้อยุติอย่างรอบคอบ เป็นที่แน่ชัดว่าการจัดการเรียนการสอนของครูที่ดำเนินตามหลักสูตรที่ตนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นมาเอง จะทำให้การจัดการสอนสนองความต้องการของผู้เรียนและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้มากกว่าการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่มีผู้กำหนดมาให้เรียบร้อยแล้ว
นักวิชาการด้านการพัฒนาหลักสูตรต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การกระจายอำนาจการตัดสินใจเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรเป็นเรื่องจำเป็นและมีความสำคัญ จึงบัญญัติศัพท์ที่เกี่ยวกับแนวคิดในการสนับสนุนให้สถานศึกษาจัดทำหลักสูตรเองไว้มากมาย เช่น การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-based curriculum development) การพัฒนาหลักสูตรที่ยึดโรงเรียนเป็นหลัก (School-focused curriculum development) พร้อมทั้งมีความพยายามที่จะมอบอำนาจการตัดสินใจและการบริหารจัดการให้แก่ครูใหญ่หรือผู้บริหารโรงเรียน โดยบัญญัติศัพท์เรียกแนวความคิดนี้ว่า การบริหารจัดการที่ยึดแหล่งปฏิบัติการเป็นฐาน (Site-based Management) หรือการบริหารจัดการที่ยึดโรงเรียนเป็นฐาน (School-based Management) เป็นต้น
สเตอร์แมน (Sturman, 1989) ได้สรุปถึงประโยชน์หรือข้อดีของการกระจายอำนาจทั้งการบริหารจัดการและการพัฒนาหลักสูตรไปสู่สถานศึกษาไว้ดังนี้
1. มีความสามารถที่จะตัดสินใจให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของท้องถิ่นได้ดีขึ้น
2. มีศักยภาพที่จะสร้างความกระตือรือร้นระหว่างผู้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
3. มีศักยภาพที่จะส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ดีขึ้น โดยชักจูงการดึงให้บุคลากรเข้าร่วมกิจกรรมการตัดสินใจมากขึ้น
4. มีศักยภาพในการส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างการทำงานที่มีลักษณะเป็นนวัตกรรมมากขึ้น
5. มีประสิทธิภาพในการจัดการศึกษามากขึ้น หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้โครงสร้างการทำงานแบบเดิมลง
6. มีศักยภาพในการนำทรัพยากรของรัฐมาใช้ เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่เหมาะสมมากขึ้น
7. ลดความขัดแย้งของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ
8. เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลที่ด้อยโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม
9. ส่งเสริมการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นวัตถุวิสัยประโยชน์อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่สถานศึกษาได้จัดทำหลักสูตรขึ้นใช้เอง ก็คือสามารถสนองความต้องการ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง แม้หลักสูตรกลางจะกำหนดเป็นหลักการไว้ว่า “เป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนค้นพบความสามารถ ความถนัด และความสนใจของตนเอง” (กระทรวงศึกษาธิการ 2533: 1) แต่ก็มักจะไม่ค่อยบรรลุเจตนารมณ์ที่วางไว้แม้ในอดีตและปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะโดยข้อเท็จจริง สภาพโรงเรียนและธรรมชาติของผู้เรียนในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างและความหลากหลายค่อนข้างสูง เนื้อหาสาระและรายวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดจากส่วนกลางไม่สามารถสนองความต้องการเฉพาะดังกล่าวของโรงเรียนได้ การส่งเสริมให้โรงเรียนกำหนดรายละเอียดของ หรือหลักสูตรแกนกลางหลักสูตรในบางรายวิชาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและความต้องการของผู้เรียน จึงเป็นทางออกที่จะแก้ปัญหาความจำกัดของความหลากหลายของหลักสูตรได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น